คณะโบราณคดี ณ ตำหนักพรรณราย
พิเศษ สังข์สุวรรณ
ที่ตั้งแห่งที่สองของคณะโบราณคดีหลังจากไปฝากอยู่กับพื้นที่กรมศิลปากรมาได้ระยะหนึ่งก็คือที่ตำหนักพรรณราย หรือเรียกกันสั้นๆว่าตึกพรรณรายแห่งวังท่าพระแห่งนี้
วังแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หนึ่ง พระองค์ใดเคยทรงอยู่ที่วังนี้ และสืบเนื่องมาถึงใครนั้นต้องไปศึกษาเอา เขามีประวัติบันทึกไว้โดยละเอียดอยู่แล้ว
แต่ที่อยากจะบอกกันไว้ก็คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในระยะที่ท่านต้องดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นั้น ท่านทรงประทับอยู่ที่นี้มาโดยตลอด ถ้าขึ้นไปท้องพระโรง จะเห็นเสาต้นหนึ่งเขาปิดทองไว้ นั้นคือบริเวณที่ประทับว่าราชการของพระองค์ที่จะทรงขึ้นครองราชย์สมบัติ
ผ่านไปผ่านมาก็ยกมือไหว้หรือรำลึกในพระคุณของท่านเสียบ้าง พระองค์ทรงทำคุณไว้ให้กับแผ่นดินเป็นอเนกอนันต์นานัปการ
คำว่าพรรณรายนั้นแปลว่าสีพรายเลื่อมระยับงามผุดผ่อง เป็นพระนามของพระมารดาของเจ้านายพระองค์หนึ่งซึ่งครองวังท่าพระมา คุ้นๆว่าน่าจะเป็นสมเด็จกรมพระยานริศฯ จะใช่หรือไม่ใช่ก็ต้องไปค้นเอาเองอีกนั้นแหละ เมื่อเขาไม่สั่งไม่สอนก็ต้องไปค้นคว้าขวนขวายเอาเอง เผื่อจะได้ความรู้อื่นติดมาบ้าง ตัวของเราเองนี้หว่า ใช่ของใครที่ไหน ถ้าไม่ทำคุณให้ตัวเองเสียก่อนแล้วจะไปทำให้ใครอื่นเขาได้...เน๊าะ
ผู้เขียนเข้ามาที่ตึกพรรณรายครั้งแรกเมื่อเรียนจบมัธยมมาใหม่ๆจะสอบเอ็นทรานซ์เข้าศิลปากร
ที่เลือกศิลปากรก็เพราะชอบโดยไม่มีเหตุผล อาจจะเป็นเพราะเล็กดี คนไม่เยอะแยะวุ่นวายแต่ก็ใหญ่กว่าที่อื่นๆชั่งมันเถอะ นานาจิตตัง
เลือกสอบได้คณะเดียวคือคณะโบราณคดี เพราะไม่มีวาดรูปและคำนวณ
เนื่องจากต้องสอบวิชาเฉพาะของคณะด้วย ก็เลยต้องมาสอบถามวิชาอะไรมาถามกับเพื่อนคนหนึ่งซึ่งจะสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมไทย(หลักสูตรและชื่อในสมัยนั้น) มาถึงก็เงอะๆ งะๆ หาอะไรไม่เจออยู่พักหนึ่ง จนเจอใครคนหนึ่งเข้าในที่สุด ก็เลยถามคำถามเขาข้อหนึ่ง “ครูใหญ่อยู่ไหนครับ”
ก็เลยไปนั่งจ๋องหง๋องอยู่หน้าท่านอาจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งท่านก็ทรงอธิบายให้ว่าไปซื้อหนังสือเล่มไหนมาอ่าน ก็เลยต้องเดินไปธรรมศาสตร์เพื่อซื้อหนังสือมาอ่านเพื่อสอบเข้าธรรมศาสตร์อย่างงงๆ เพราะในตอนนั้นไม่รู้ในความยากจนของมหาลัยศิลปากรที่ไม่สามารถมีโรงพิมพ์ของตนเองได้
ในที่สุดก็สอบเข้ามาได้อย่างโด่เด่ เพราะเจ้าเพื่อนที่มาสอบเข้า “ถาปัด”ก็สอบได้เช่นกัน แต่มันตก ม.8 และมันทำซ้ำๆอยู่อย่างนั้นถึงสามปี จนปีที่4 มันก็สอบม.8ผ่านจนได้ แต่สอบเอ็นฯไม่ติดอะไรเลย...โธ่เอ๋ย ชีวิตที่น่าสงสาร
นั่นคือชีวิตที่เข้ามาอยู่ในตึกพรรณราย ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายเป็นเวลา 5 ปีเต็ม จนจบไปพร้อมกับวิทยานิพนธ์เรื่อง “คณะโบราณคดี:ห้าปีแห่งการสังเกตการณ์” ที่ทะเลาะกับอาจารย์ผู้ตรวจจนขนลุกขนพอง เพราะดันไปเอาความจริงมาพูด
มหาลัยมีระบบอาวุโสที่ค่อนข้างจะเข้มงวดอย่างที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่สมัยนั้นเฮี้ยนกว่าสมัยนี้เยอะ สมัยก่อนมีสภาซีเนียร์ด้วยนะจ๊ะ ใครทำผิดกฎระเยียบของสังคมเกินเส้นแดงก็ต้องขึ้นสภาซีเนียร์นะจ๊ะ และสภาฯมีสิทธิลงโทษถึงขั้นเสนอให้มหาวิทยาลัยพิจารณาพักการเรียนหรือเฉดหัวออกไปได้นะจ๊ะ.....ไม่ใช่ขี้ขี้
อยู่ปีหนึ่งก็เรียนอยู่กลางชั้นบนของตึกพรรณราย ประกบซ้ายขวาด้วยห้องปี 4 และห้องปี 2 ...แสบไหมล่ะ....จะเดินเข้าห้องโดยไม่โดนกัดเป็นไม่มี กว่าจะพ้นฤดูรับน้องใหม่ไปได้ก็กะรุ่งกะริ่งกันจนดูไม่ได้ก็แล้วกัน ดีที่รุ่นพี่นั้นมัยนั้นเขาสวยๆ กันทั้งนั้น ทั้งกายทั้งใจ แผลแหวอะหวะเลยไม่มีแผลเป็น
สมัยนั้นรับรุ่นละ 30 คนเท่านั้น เฉลี่ยรุ่นพี่กับน้องใหม่คือ 1:3 และจำนวนแค่ 30 คนนั้นอัดรายตัวได้สบายมาก เราจึงรู้จัก และอยู่ด้วยกันเหมือนญาติมากกว่านักศึกษาร่วมคณะเดียวกัน
ลานอิฐแดง สำหรับสองสามเดือนแรกคือลานประหารดีๆนั้นเอง
สารพัดสารพันที่จะแกล้งกันได้อย่างน่าประหลาดใจ
ใครว่างๆก็ลองไปยืนกลางลานแล้วตะโกนดังๆดูสักพัก ตัวอาคารรอบด้านจะสะท้อนกลับมาจนกระดูกค้อนทั่งสั่นระริก
แล้วลองคิดถึงเสียงคนเก้าสิบกว่าคนตะโกนขึ้นสุดเสียงขึ้นพร้อมๆกันโดยเราต้องยืนทนฟังอยู่ตลอด 3 ชั่วโมงของทุกวันเป็นเวลา 3 เดือนวาจะเป็นอย่างไร...ไม่เป็นบ้าก็นับว่าเป็นบุญแล้ว
แต่พอสามเดือนผ่านไปแล้ว ลานอิฐแดงก็กลายสภาพจากทุ่งสังหารมาเป็นศาลาประชาคมของหมู่บ้าน มันเป็นที่กว้างที่เดียวในคณะที่ใครก็มานั่งคุยกัน มานั่งพัก มากินข้าว มาขโมยถั่วแขกกิน มาเตะตะกร้อ มาเล่นวอลเลย์บอล มาเล่นหมากรุกโดยคอยปัดลูกตะกร้อหรือลูกวอลเลย์มาตีแบโดยต้องพลิ้วหลบคมดาบที่อีกพวกหนึ่งฟันกันอยู่ มาเล่นกีต้าร์ร้องเพลงโดยไม่ต้องอ่านเนื้อ เพราะตาต้องดูอะไรต่อมิอะไรที่ปลิวว่อนอยู่แถวนั้น มาล้อมวงกินเหล้าโดยไม่ต้องถือแก้วและขวดเหล้าไว้กับตัว เพราะเหตุผลเดียวกัน
อย่างไรก็แล้วแต่ ชีวิตที่ตึกพรรณรายก็จะมีประชาคมที่ลานอิฐแดงเสียกว่าครึ่งหนึ่งของการใช่ชีวิตอยู่ที่นั่น ที่เหลือคือห้องเรียนที่เข้ามั่งไม่เข้ามั่ง ห้องเขียนแบบและ Drawing ชั้นล่างซึ่งเป็นหอพักนักศึกษาโดยไม่เสียค่าหอ สนามตะกร้อข้ามตาข่ายที่ลูกตะกร้อมักจะข้ามกำแพงมาตกใส่หลังคาห้องน้ำผู้หญิงจนตกใจเป็นโรคกะปิดกะปรอยกันมามากต่อมากแล้ว และโรงอาหารตรงสนามบาสฯปัจจุบันที่มักเข้าจะไปบ่อยๆยามไม่มีสตางค์ เพราะเซ็นต์ป้าแตงหรือยายนิดเอาไว้ได้ พอรับปริญญาก็เป็นซามูไรกันไปพร้อมกัน
พื้นที่สยองในตึกพรรณรายมีอยู่สองแห่ง ห่างหนึ่งที่ห้องของชมรมโบราณคดีและศิลปวัฒนธรรมอยู่ติดกับสวนแก้ว และติดกับห้องกลางที่ต่อไปสู่ห้องพระโรง ติดกับห้องดังกล่าวคือห้องกีฬาที่เราใช้เป็นที่เก็บอุปกรณ์กีฬา และเป็นที่กินเหล้า เล่นไพ่ เวลาฝนตก และเป็นหอพักสำรองเวลาหอพักใหญ่ที่ถูกท่านอาจารย์สั่งปิดพร้อมกันกับฝนตก ซึ่งทำให้เรากางมุ้งนอนที่ลานอิฐแดงไม่ได้
ที่ว่าเป็นที่สยองขวัญก็เพราะว่ามีหลายๆครั้งที่เรานอนในห้องกีฬาพอดึกๆก็มีเหตุการณ์แปลกๆเกิดขึ้นในห้องชมรมฯทั้งๆที่ไม่มีคนอยู่ และปิดล๊อกเอาไว้
เช่นมีคนมาโยกเก้าอีเล่นมั่ง มีเงาคนมายืนมองที่ประตูกระจกฝ้าที่อยู่ติดกันมั่ง
เจ๋งที่สุดก็คือมีใครมาเคาะพิมพ์ดีด......เคาะอย่างพิมพ์ไม่เป็น
สุดๆก็คือมีเสียงปัดแคร่ซะด้วย
พวกเล่นไพ่ดึกๆเจอกันเป็นประจำ ทั้งโง่กันซื่อบื้อไปนักต่อนักแล้ว
สยองโซนอีกแห่งหนึ่งก็คือห้องมืด ซึ่งเป็นทีทำการสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากรในปัจจุบัน
สมัยก่อนเป็นห้องมืดสำหรับวิชาถ่ายภาพ ชื่อมันเองก็ฟังดูสยิวๆอยู่แล้ว พอเข้าไปมันก็แสยงๆอยู่ เพราะมันมืดตามธรรมชาติของการใช่งาน ยิ่งเข้าไปตอนดึก ๆ ละก้อ จะเกิดอาการทั้งสยิวแสยงจนตัวพองเหมือนเม่น
ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วก็น่าสงสัยว่า จะเข้าห้องมืดเวลาดึกดื่นค่ำคืนทำไมกัน เมื่อรู้ๆอยู่แล้วว่า.......เออ!ช่างมันเถอะ
คำตอบก็คือประธานหรือผู้ช่วยแผนกถ่ายภาพจะต้องไปอัดรูปล้างรูป ซึ่งค้างคามาแต่กลางวันและทำไมต้องไปทำตอนกลางคืนก็ไม่ทราบเหตุผลเหมือนกัน
มีอยู่ครั้งหนึ่งประธานถ่ายรูปคณะมัณฑนศิลปมาขอใช้ห้องมืดตอนกลางคืนตอนเช้าเราไปพบเขานอนยิ้มไม่สมประดีอยู่คาประตูระหว่างห้องตากฟิล์มกับห้องอัด พอแกไปฟื้นขึ้นที่ห้องพยาบาลถามว่าเกิดอะไรขึ้นแกก็ไม่ยอมบอก
เลยเดากันว่าคงมีใครใจดีมาบอกหวยแก แกเลยดีใจจนช็อคไป
อีกประการหนึ่งทีทำไมมีใครเข้าไปในห้องมืดตอนกลางค่ำกลางคืนก็คือ น้ำไม่ไหล
น้ำไม่ไหลนี้คือน้ำในห้อน้ำของตึกพรรณราย สมัยก่อนมีห้องอาบน้ำด้วย ชาวหอก็จะอาศัยห้องน้ำนี้แหละเป็นห้องน้ำของหอ
การประปาสมัยก่อนยังสุขภาพไม่ค่อยดี คือเป็นนิ่วอยู่เรื่อยๆดังนั้นบ่อยครั้งก็จะเกิดวิกฤตการณ์น้ำไม่ไหลขึ้น
แต่ก็ไม่รู้ว่าเหตุผลใดที่ทำให้น้ำในห้องมืดไม่เคยไม่ไหล
ห้องมืดมีแหล่งน้ำอยู่แหล่งเดียว นั่นก็คือน้ำที่อ่าง Running เอาไว้ล้างฟิล์ม อ่างนั้นก็กว้างพอที่จะเข้าไปนั่งเล่นได้ จึงเหมาะมากที่จะเอาไว้เป็น Turkish bath เวลาน้ำในห้องน้ำไม่ไหล
คืนหนึ่งผู้เขียนจำเป็นต้องใช้บริการ Turkish bath ดังกล่าวนิ้ เนื่องจากรอน้ำในห้องน้ำจนดึกดื่นมันก็ไม่ไหล และเล่นตะกร้อมาทั้งเย็น เหนอะหนะนอนไม่ลง ต้องยอมเสี่ยงไปอาบน้ำในห้องมืด
หลังจากทำใจดีสู่เสือ(หรือผี)แล้ว ก็แข็งใจขนลุกเดินเข้าไปอาบน้ำในห้องมืด
ไอ้ห้องมืดนี้ก็ไม่รู้ใครออกแบบระบบไฟไว้อย่างน่าเขกกะโหลก คือสวิทชไฟทั้งหมดไปรวมกันอยู่ในห้องตากฟิล์ม ซึ่งอยู่ในสุดของสามห้องติดกัน โดยแต่ละห้องมีประตูปิดเปิดถึงกันโดยเฉพาะ
ห้อง Running ที่เป็นสถาน Turkish bath นั้นอยู่นอกสุด แต่ต้องเดินไปในสุดถึงจะเปิดไฟห้องนี้ได้
ถึงบอกว่าต้องทำใจดีสู่เสือ(หรือผี)ไงล่ะ
พอเปิดไฟได้ก็ลงสรงสระสนาน สระผมสระเผ้าลงแชมพูสบู่ขมิ้นสบายใจเฉิบ
ทันใดนั้น!ไฟก็ดับพรึ่บทุกดวงที่มี!
ใจพี่หายวาบ เหมือนกุหลาบกลีบกระจาย
แต่ก็แข็งใจทำใจดีสู่เสือ(หรือผี)เอาไว้......ฮัมเพลงออกมาเบาๆโดยผิดคีย์ทุกตัวโน๊ต
ในขณะที่นั่งฟองฟอดอยู่ด้วยแชมพูและสบู่ และกำลังรวบรวมกำลังใจและสติปัญญาอยู่นั้นพลันก็เกิดเสียงความเคลื่อนไหวในห้องในสุด ตามมาด้วยเสียงประตูปิดดังพึ่บ!!!
เสียงความเคลื่อนไหวเคลื่อนต่อมายังประตูห้อง Turkish bath ที่ผู้เขียนนั่งจ๋อหว๋ออยู่ในอ่าง Running
โดยทันทีทันใดที่เสียงความเคลื่อนไหวเคลื่อนมาถึงประตูห้อง Running ผู้เขียนก็ใช้ความกล้าหาญสุดยอดครั้งหนึ่งในชีวิตของลูกผู้ชายที่ยังไม่ได้ใส่กางเกงยีนส์ Wrangler ในตอนนั้น กระโดดแผล็วลงจากอ่าง Running โดยไม่ลื่นล้ม ทั้งๆที่ทั้งหัวทั้งตัวฟูฟ่องไปด้วยฟองแชมพู และสบู่เปิดประตูนอกได้ก็เตลิดออกไปก่อนที่เจ้าของความเคลื่อนไหวจะปรากฏตัวขึ้นมิได้นำพาว่าตัวเรานี้จะมีอะไรติดตัวมาหรือไม่ คิดเสียว่าตอนเกิดมาก็มีแต่ตัวเปล่าก็แล้วกัน
เจ้าประคุณเอ๊ย!จะถูกผีหลอกนี่มันน่ากลัวกว่าถูกผีหลอกตั้งหลายเท่า อยากรู้ก็ลองดูซิ
ยังมีเรื่องราวอีกตั้งเยอะแยะเกี่ยวกับตึกพรรณราย และมีผู้คนอีกเยอะแยะที่มีเรื่องราวกับตึกพรรณราย แต่จะมาอยู่ในหนังสือเล่มนี้ทั้งหมดคงไม่ได้ มีโอกาสก็คงจะถ่ายทอดกันต่อๆไป
เมื่อคณะโบราณคดีย้ายไปอยู่ในตึกใหม่ในปัจจุบัน บุคคลในคณะก็เหินห่าง และเหมือนจะตัดขาดจากตึกพรรณรายไป
คนรุ่นใหม่ที่มีสังคมใหม่ แนวทางการศึกษาใหม่ การเรียนการสอนใหม่ มีคณาจารย์ใหม่ๆ มีความคิดและปรัชญาใหม่ๆ
ก็คงไม่สัมพันธ์อะไรกับตึกพรรณรายต่อไปแล้ว...เป็นแค่หอศิลป์และที่ทำการมาวิทยาลัยบางส่วนเท่านั้น
สิ่งที่เคยเกิดขึ้นของคณะโบราณคดี ณ ตำหนักพรรณรายก็จะเหลือแค่คำเล่าขาน และตำนานเท่านั้น
เมื่อความคิดเปลี่ยนไป คนก็เปลี่ยนไป
ที่ที่เปลี่ยนไป ก็ไปเพาะชำปลูกฝังเรื่องต่างๆให้กับผู้อยู่ตามสภาพแวดล้อมใหม่
อาจมีคนโต้แย้งคัดค้านในเรื่องนี้....ไม่เป็นไร...ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
ลองสังเกตบุคลากรที่ทำงานอยู่ในตึกพรรณรายในปัจจุบันดูซิ
มโนคติเขาแตกต่างกับผู้อื่นทำงานอยู่ที่อื่นในขอบเขตของวังท่าพระนี้ไหม...
เขาเข้าไปอยู่ในผนังตึกเหมือนนักศึกษาโบราณคดีรุ่นเก่าฯหรือยัง
ตึกใหม่มันพูดอะไรกับพวกคุณมั่ง
ฟังมันไม่รู้เรื่องก็คงไม่เป็นไรมั๊ง
ทุกอย่างก็ไม่มีอะไรจีรัง....
นอกจากความเปลี่ยนแปลง
บทนี้ไปลอกมาจากไหนก็จำไม่ได้ หากเจอต้นฉบับแล้วจะนำมาแจ้งค่ะ
เป้า
08-06-08
2 comments:
ถ้าจีบติด รับสิทธิ์แฟนไปเลยค่ะ sexy-baccarat
Online games that are hot right now A source of fun for people who are looking for money.
joker123
Post a Comment